วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตำนาน เทพีฮีร่า (Hera) เทพีแห่งสวรรค์


ฮีร่า (Hera) หรือภาษาโรมันว่า จูโน (Juno) เป็นราชินีของเทพธิดาทั้งหลาย เพราะเป็นชายาของซูส

ฮีร่าเป็นธิดาองค์ใหญ่ของเทพไทแทน โครนัสกับเทพมารดารีอา ต่อมาในตอนหลังได้อภิเษกสมรสกับ ซูสเทพบดีอนุชาของนาง  ทำให้นางกลายเป็นราชินีสูงสุดในสวรรค์ชั้นโอลิมปัสที่ไม่ว่าผู้ใดก็คร้ามเกรง เทวีฮีร่าไม่ชอบนิสัยเจ้าชู้ของซูส ด้วยเหตุที่ซูสเป็นคนเจ้าชู้ ทำให้ฮีร่ากลายเป็นคนขี้หึงและคอยลงโทษหรือพยาบาทคนที่มาเป็นภรรยาน้อยของซูสอยู่เสมอ

เมื่อแรกที่ซูสขอแต่งงานด้วยฮีร่าปฏิเสธ และปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี วันหนึ่งซูสคิดทำอุบายปลอมตัว เป็นนกกาเหว่าเปียกพายุฝนไปเกาะที่หน้าต่าง ฮีร่าสงสารก็เลยจับนกมาลูบขนพร้อมกับพูดว่า "ฉันรักเธอ" ทันใด นั้นซูสก็กลายร่างกลับคืนและบอกว่า ฮีร่าต้องแต่งงานกับพระองค์

แต่ทว่าชีวิตการครองคู่ของเทวีฮีร่ากับเทพปริณายกซูสไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก มักจะทะเละเบาะแว้งเป็นปากเสียงกันตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า ในเวลาที่เกิดฟ้าคะนองดุเดือดขึ้นเมื่อไร นั่นคือ สัญญาณว่าซูสกับฮีร่าต้องทะเลาะกันเป็นแน่ เพราะ 2 เทพนี้เป็นสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์ เมื่อท้องฟ้าเกิดอาเพศก็เหมาเอาว่าเป็นเพราะการขัดแย้งรุนแรงของ 2 เทพคู่นี้

แม้ว่าเทวีฮีร่ามีศักดิ์ศรีเป็นถึงราชินีแห่งสวรรค์หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่ความประพฤติและอุปนิสัยของเจ้าแม่ไม่อ่อนหวานมีเมตตาสมกับเป็นเทพมารดาเลย โดยประวัติของเจ้าแม่นั้นมีทั้งโหดร้าย ไร้เหตุผล เจ้าคิดเจ้าแค้นและอาฆาตพยาบาทจนถึงที่สุด ผู้ใดก็ตามที่ ถูกเทวีฮีร่าอาฆาตไว้ มักมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ว่ากันว่าชาวกรุงทรอยทั้งเมืองล่มจมลงไปเพราะเพลิงอาฆาตแค้นของเจ้าแม่ฮีร่านี้เอง  สาเหตุเกิดจากเจ้าชายปารีสแห่งทรอยไม่เลือกให้เจ้าแม่ชนะเลิศในการตัดสินความงาม ระหว่าง 3 เทวีแห่งสวรรค์ คือเทวีฮีร่า เทวีเอเธน่า และเทวี อโฟรไดท์

รูปเขียนรูปสลักของชาวกรีกโบราณมักทำรูปของเจ้าแม่ฮีร่า เป็นเทวีวัยสาวที่สวยสง่า ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ว่ากันว่ามีคน หลงใหลความงามของเจ้าแม่จนคลั่งไคล้หลายคน โดยเฉพาะ อิกซิออน (Ixion) ราชาแห่ง ลาปิธี (Lapithae) ต่อมาถูกซูสเทพบดีลงโทษอย่างรุนแรง และบางทีอาจเป็นเพราะทรนงตนว่ามีสิริโฉมงดงามก็ได้ที่ทำให้เทวีฮีร่าเป็นเดือดเป็นแค้นนักที่สวามีปันใจให้สตรีอื่น จึงต้องราวีอย่างถึงที่สุดเสมอ ความร้ายกาจของเจ้าแม่เคยถึงขนาดคิดปฏิวัติโค่นอำนาจของสวามีจนเกือบสัมฤทธิ์ผล

เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าแม่โกรธแค้นความไม่ซื่อสัตย์ของสวามีขึ้นมาอย่างเต็มกลืน จึงร่วมมือกับเทพโปเซดอน จ้าวสมุทร เชษฐาของซูสเอง และเทพอพอลโลกับเทวีเอเธน่าด้วย  ช่วยกันกลุ้มรุมจับองค์เทพซูสมัดพันธการไว้แน่นหนา จนเป็นเหตุให้เทพปริณายกซูสจวนเจียนจะสูญเสียอำนาจอยู่รำไร ก็พอดีชายาอีกองค์ของซูสนามว่า มีทิส (แปลว่าภูมิปัญญา) ได้นำผู้ช่วยเหลือมากู้สถานการณ์ทันเวลา โดยไปพา อาอีกีออน (Aegaeon) ซึ่งเป็นอสูรร้อยแขนที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงมาช่วยเหลือเทพบดีซูส อสูรตนนี้มีฤทธิ์อำนาจมากเสียจนเทพเทวาน้อยใหญ่ต้องยอมศิโรราบไปตามๆ กัน เมื่ออาอีกีออนมาแก้ไขให้ซูส และนั่งเฝ้าอยู่ข้างบัลลังก์ของไท้เธอ บรรดาผู้คิดกบฎปฎิวัติก็หน้าม่อยชวนกันหนีหน้าไปหมด แผนการณ์จึงล้มครืนด้วยประการฉะนี้

องค์เทพซูสเองก็เคยร้ายกาจกับราชินีเทวีฮีร่าเหมือนกัน  ทรงลงโทษลงทัณฑ์แก่เจ้าแม่อย่างไม่ไว้หน้าอยู่บ่อยๆ นอกจากทุบตีอย่างรุนแรงแล้ว ไท้เธอยังใส่โซ่ตรวนที่บาทของเจ้าแม่ กับผูกข้อหัตถ์และพาหาติดกันมัดโยงโตงเตงอยู่บนท้องฟ้า จนเป็นเหตุให้เกิดตำนานเกี่ยวกับเทพฮีฟีสทัสขึ้นมาว่า จากการวิวาทครั้งนี้ เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นโอรสเข้าขัดขวางมิให้พระบิดากระทำรุนแรงแก่พระมารดา จึงถูกซูสเทพบดีที่กำลังโกรธกริ้ว  จับตัวฮีฟีสทัสขว้างลงมาจากสวรรค์  กลายเป็นเทพพิการไปเลย

เทวีฮีร่า นอกจากขี้หึงแล้วยังช่างริษยามากอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อซูสทรงมีราชธิดานามว่า เอเธน่า ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร  ซึ่งกระโดดออกจากเศียรของไท้เธอเอง เจ้าแม่ฮีร่าก็ริษยายิ่งนัก ตรัสว่าเมื่อสวามีทรงมีกุมารีด้วยองค์เองได้ นางเองก็มีได้เช่นกัน ทว่าบุตรที่เกิดจากตัวเจ้าแม่เองนั้นกลับมิได้สะสวยเรืองฤทธิ์เช่นเอเธน่า แต่เป็นอสูรร้ายน่าเกลียดน่ากลัวยิ่ง (แต่บาง ตำนานกล่าวว่าบุตรที่จากเทวีฮีร่าก็คือ ฮีฟีทัสนั่นเอง) คืออสูร้าย ไทฟีอัส (Typheus) ซึ่งผู้ใดเห็นก็หวาดกลัว เลยทำให้เทพปริณายกซูสกริ้วใหญ่ และการวิวาทบาดหมางก็เกิดขึ้นอีก

เจ้าแม่ฮีร่ามีโอรสธิดากับเทพบดีซูส 4 องค์ นามว่า เฮบี้ (Hebe) อิลลิธธียา (Ilithyia) เอเรส (Ares) และฮีฟีสทัส (Hephaestus) เทพ 2 องค์หลัง นี้เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเทพเอเรส คือ เทพแห่งสงคราม ส่วนเทพฮีฟีสทัสคือเทพถลุงเหล็กหรือเทพแห่งงานช่าง
แม้ว่าชีวิตสมรสของเจ้าแม่ฮีร่าจะไม่ราบรื่นนัก แต่ในฐานะที่เป็นราชินีหรือเป็นมารดาแห่งสวรรค์ ฮีร่าเป็นเทพที่คุ้มครองการแต่งงาน มีหลายครั้งที่เธอคอยดลใจให้วีรบุรุษได้แสดงความกล้าหาญ จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือในเขตโอลิมปัส เทวาลัยที่เป็นที่บูชาขนาดใหญ่ที่สุดของเทวีฮีร่าอยู่ที่เมืองอาร์กอสเรียกว่า เดอะฮีร่าอีอุม (Heraeum)

สัญลักษณ์ของฮีร่าคือ วัว นกยูง และสิงโต พฤกษาประจำตัวของเจ้าแม่คือ ผลทับทิม และนกแขกเต้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น