วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ค้นพบกำแพงหินอายุกว่า 10,000 ปีที่เชียงใหม่





 วันที่ 12 ก.พ. นายพูนทรัพย์ วงศาศุกลปักษ์ เลขานุการศูนย์มนุษยวิทยา ชาติพันธุ์เวียงเจ็ดลิน

เทศบาลตำบลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยการค้นพบแนวกำแพงหินประวัติศาสตร์อายุมากกว่า 10,000 ปี ภายในเมืองเก่าแก่ที่เป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองเชียงใหม่







โดยนายพูนทรัพย์ เปิดเผยว่า ย้อนไปเริ่มแรกของเวียงเจ็ดลินนั้น เป็นเวียงโบราณทรงกลมแบบเรขาคณิต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 950 เมตร ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ มีอายุประมาณ 1,500 – 1,600 ปี ก่อนเมืองหริภุญไชยและเมืองเชียงใหม่





ตามตำนาน กล่าวว่า เป็นเวียงของคนไทและลัวะที่ฤาษีดอยผาลาดชี้สถานที่ให้สร้าง ต่อมาร่วมสมัยประวัติศาสตร์กับเมืองหริภุญไชย กล่าวถึงขุนหลวงวิลังคะ ผู้นำลัวะเชิงดอยสุเทพไม่พอใจ
ที่ถูกเมืองหริภุญไชยแทรกแซง จึงยกทัพไปทำสงครามแต่พ่ายแพ้ต่อพระนางจามเทวี 


ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเมืองเชียงใหม่สร้างโดยพญามังรายในปี พ.ศ.1839 
และ ในสมัยพญาสามฝั่งแกน พ.ศ.1954 มีการสถาปนาเวียงเจ็ดลินขึ้นเป็นเวียงที่ประทับพักผ่อน
และในสมัยพระนางจิรประภา พ.ศ.2088 พระไชยราชา กษัตริย์แห่งอยุธยายกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่และเสด็จมาสรงน้ำที่เวียงเจ็ดลิน สมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ พ.ศ.2369-2389 เสด็จออกไปย้ายเคราะห์ที่เวียงเจ็ดลิน พ.ศ.2459-2468 มีการใช้พื้นที่เวียงเจ็ดลินเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง 
ต่อมาเวียงเจ็ดลิน (ร้าง) ได้มาเป็นที่ราชพัสดุให้ส่วนราชการหลายแห่ง แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยของกำแพงและคูน้ำที่ชัดเจน




นายพูนทรัพย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ครั้งแรกเราได้เจอแผ่นดินเหนียวจารึกอักษรรูปลิ้มโบราณ

จากการศึกษาข้อมูลพบว่าเป็นจารึกดินเหนียวลัวะเจ็ดลิน และในปี 43 ได้มีการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบแผ่นดินเหนียวจากรึกดังกล่าว ก็พบว่าอยู่ในช่วงอายุ 8,000 - 15,000 ปี



ต่อมาก็มีการค้นคว้าและทราบว่า เมืองเชียงใหม่ ยังมีเมืองร่วมสมัยอีกแห่งคือเมืองเจ็ดลิน

จากนั้นก็ได้ออกสำรวจกันมากขึ้น กระทั่งได้พบแนวกำแพงหินที่พบในปี 48 แต่ในครั้งนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นแนวกำแพงหินของเมืองเจ็ดลิน เพราะคิดว่าอาจจะเป็นแนวที่เอาไว้กั้นคันดิน หรือกั้นน้ำ





และได้มีการเข้าไปดูภาพถ่ายทางอากาศผ่านทางเว็บไซด์ ของ Google Earth ก็พบว่าแนวหิน หรือกำแพงหินที่พบนั้น เป็นแนวกำแพงหินโบราณ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงได้นำข้อมูลเก่ากลับมาศึกษาอีกครั้ง พร้อมกับได้ขึ้นไปสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมกับนำข้อมูลกลับมาศึกษา

ก็ทำให้ทราบว่า เป็นแนวกำแพงหินของเวียงเจ็ดลินเก่าแก่ ที่ถือเป็นก่อนประวัติศาสตร์



และยังไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน และยังเป็นเวียงทรงกลมแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลก ซึ่งค้นพบบริเวณด้านบนน้ำตกห้วยแก้ว ติดกับน้ำตกวังบัวบาน ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่









แนวกำแพงหินนี้มีจุดสังเกตหลายอย่างทางประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างและอายุของหิน เพราะถ้ามีการเรียงลำดับจากประวัติศาสตร์ ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์โบราณจะมีการนำหินมาก่อสร้างเป็นกำแพง จากนั้นในยุคกลาง ก็จะมีการนำดินมาใช้ในการก่อสร้าง และยุคสุดท้ายก็เป็นยุคที่เริ่มการใช้อิฐในการก่อสร้าง ซึ่งดูจากอายุและการตรวจสอบหินที่พบแล้วนั้นจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 10,000 ปี จะอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ และเวียงเจ็ดลินแห่งนี้ ยังถือเป็นเมืองที่ก่อกำแพงและไม่มีประตูเข้า





ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองที่ให้เฉพาะบุคคลสำคัญและกษัตริย์ได้พำนักอาศัยเท่านั้น เพราะเวลาจะเข้าไปจะต้องมีการสร้างสะพานไม้ไผ่และเดินเข้าไปแทน ซึ่งจากหลักฐานที่เราพบตามจารึก และมีการถอดรหัสออกมา เพื่อนำมาหาข้อสรุปกับข้อมูลที่มีอยู่ ก็ปรากฏว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันและเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความมีอยู่ของเวียงเจ็ดลินโบราณอย่างแน่นอน อีกทั้งยังพบว่าเมืองนี้มีการสร้างให้ทำมุมเอียง 5 องศาเซลเซียส เหมือนกับเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้กระทบกับแนวของดวงอาทิตย์





ที่สำคัญเวียงเจ็ดลินยังมีความแปลกอีกอย่างคือ จากเดิมสันนิษฐานว่า มีกำแพงแค่ 2 ชั้น ล้อมรอบเมืองไว้ แต่ปรากฏว่า จากหลักฐานที่เป็นกำแพงหินที่พบ ทำให้รู้ว่าเวียงเจ็ดลินแท้จริงแล้วมีแนวกำแพงหิน 3 ชั้น และเมืองส่วนใหญ่มักจะมีวัดเป็นแนวศูนย์ของเมือง แต่เวียงเจ็ดลินกลับใช้ตาน้ำที่ผุดขึ้นมา เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองแทน ซึ่งหลังจากนี้ก็เตรียมนำเสนอกรมศิลปากรเกี่ยวกับการค้นพบ พร้อมกับนำหลักฐานต่างๆ ให้ได้ดู เพื่อจะได้ให้กรมศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เข้าไปตรวจสอบและฟื้นฟูเมืองโบราณแห่งนี้ให้กลับคืนมาเป็นที่รู้จักของคนไทย และนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเวียงกุมกาม และอีกหลายๆ แห่งที่มีการขุดค้นพบในประเทศไทย













ที่มา : http://www.dailynews.co.th/thailand/12202

____________________

เครดิต :

________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น